วัดในเชียงใหม่ มีวัดที่เก่าแก่เป็นจำนวนมาก เป็นจังหวัดที่มีวัดมากเป็นอันดับต้นๆของประเทศไทย ด้วยจำนวนวัดที่มีอยู่มากในจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้เราเห็นได้ว่า เชียงใหม่ เป็นอาณาจักรที่มีประวัติศาสตร์ของตัวเอง มาอย่างยาวนาน ซึ่งความเก่าแก่ และความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรหนึ่งนั้น ตัวชี้วัดหนึ่งก็คือ การสร้างสิ่งเคารพ สิ่งบูชา เพราะตั้งแต่ดังเดิมมาก อาณาจักรที่รุ่งเรืองศาสนาก็รุ่งเรืองเช่นเดียวกัน รวมไปถึงอาณาจักรล้านนาด้วย สิ่งบ่งชี้นั้นก็คือวัดเจดีย์หลวงวรวิหารนั่นเอง
วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ที่เราบอกว่าเป็นตัวชี้วัดความรุ่งเรืองของอาณาจักรล้านนา นั่นก็เป็นเพราะวัดเจดีย์หลวงวรวิหารแห่งนี้เป็นอีกหนึ่งวัดที่ถูกสร้างในยุคกษัตริย์ของอาณาจักรล้านนา อายุของวัดไม่ต่างจาก วัดพระธาตุดอยสุเทพมากนัก โดยมีประวัติของวัดดังนี้
ประวัติของวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร
วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ถูกสร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าแสนเมืองมา หรือ พญาแสนเมืองมา (เนื่องจากสมัยก่อนการบันทึกข้อมูลมีความผิดเพี้ยนจากการตีความทำให้ชื่อไม่ตรงกัน แต่ทางเหนือนิยมใช้ พญา) พญาแสนเมืองมา เป็นกษัตริย์ล้านนา ลำดับที่ 7 ของราชวงศ์มังราย (วัดพระธาตุดอยสุเทพ สร้างโดยพญากือนา กษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 6) ไม่ปรากฏหลักฐานในเรื่องของปีที่สร้างอย่างแน่ชัด มีข้อสันนิษฐานว่า วัดเจดีย์หลวงวรวิหารนี้ น่าจะถูกสร้างขึ้นในปี พุทธศักราช 1928 – 1945 วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงในจังหวัดเชียงใหม่ มีชื่อเรียกหลายชื่อ ได้แก่ ราชกุฏาคาร วัดโชติการาม เจดีย์แห่งนี้ผ่านการบูรณะมาหลายสมัย
สำหรับพระธาตุเจดีย์ ของวัดเจดีย์หลวงวรวิหารแห่งนี้ มีขนาดความกว้างด้านละ 60 เมตร เป็นองค์พระเจดีย์ที่มีความสำคัญอีกองค์หนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ ในปัจจุบันคงเหลือสภาพเพียงครึ่งองค์ จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ในสมัยมหาเทวีจิรประภา รัชกาลที่ 15 แห่งราชวงศ์มังราย ก่อนที่จะถูกปล่อยทิ้งร้างไปนานกว่า 4 ศตวรรษ มีการสันนิษฐานกันว่าแต่เดิมเจดีย์อาจมีความสูงถึง 80 เมตร ซึ่งจากการสันนิษฐานนี้ทำให้เชื่อว่า เจดีย์แห่งนี้เป็นเจดีย์ที่สูงที่สุดในภาคเหนือในช่วงเวลาดังกล่าว แม้ตัวเจดีย์จะได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น และถูกทิ้งไว้นานกว่า 4 ศตวรรษ ก่อนที่ในปี พุทธศักราช 2535 จะมีการบูรณะจากทางกรมศิลปากร โดยได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ในส่วนของเจดีย์จนเสร็จสมบูรณ์ ทำให้ตัวเจดีย์นี้ยังคงมีรูปลักษณ์ที่สวยงามดังที่ได้เห็นกันในปัจจุบัน
ตำแหน่งในการสร้างวัดเจดีย์หลวงแห่งนี้ เรียกว่าเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญของตัวเมือง โดยวัดเจดีย์หลวง ได้ถูกสร้างอยู่กลางใจเมืองเชียงใหม่ ซึ่งแต่เดิมถือว่าเป็นศูนย์กลางทางการปกครองของอาณาจักรล้านนาด้วยเช่นกัน ทำให้แสดงถึงความสำคัญของเจดีย์แห่งนี้ได้เป็นอย่างดี
เจดีย์หลวงตามคติความเชื่อเรื่องจักรวาลวิทยาของชาวลัวะ
การเปลี่ยนไปของความเชื่อทางศาสนา ขึ้นชื่อว่าความเชื่อนั่นย่อมมีความเปลี่ยนแปลงไปตาม วันและเวลา วัดเจดีย์หลวงวรวิหารเป็นอีกหนึ่งสถานที่ ที่ทำให้เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของความเชื่อที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
คติความเชื่อเรื่องจักรวาลวิทยา ในยุคแรกใช้อินทขีลเป็นสัญลักษณ์สะท้อนความเชื่อดั้งเดิมของชาวลัวะซึ่งได้ผสมผสานกับความเชื่อของพราหมณ์ ในระยะต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาก ได้ใช้พระธาตุเจดีย์หลวงเป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางจักรวาล คตินี้เห็นได้ชัดจากการสร้างเจดีย์หลวงให้สูงใหญ่ ตั้งอยู่กลางใจกลางเมือง เช่นเดียวกับเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นศูนย์กลางจักรวาล
ในปัจจุบันบริเวณวัดเจดีย์หลวงแห่งนี้ ก็ยังอยู่ในตำแหน่งกลางเมืองเชียงใหม่ คงเหมือนเดิมจากความเชื่อเรื่องเขาพระสุเมรุในยุคก่อน แต่สิ่งที่เปลี่ยนไป นั่นคือในบริเวณวัดได้มีสิ่งสักการะหลากหลายมากขึ้นกว่าแต่ก่อน โดยในปัจจุบันสิ่งสักการะที่อยู่ในบริเวณวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ได้แก่ เจดีย์หลวง อินทขีล ต้นยาง กุมภัณฑ์ พระฤาษี
ทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการ ความเปลี่ยนแปลงไป จากอดีตถึงปัจจุบัน วัดเจดีย์หลวงวรวิหารนั้นจึงไม่ได้มีคุณค่าให้มองเห็นแค่ในเรื่องของสถาปัตยกรรม ความน่าเชื่อถือ ศาสนสถานเพียงเท่านั้น แต่ยังทำให้เห็นว่าความเชื่อทางศาสนาได้ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่แวดล้อมของเมือง ความเชื่อของคนที่แวดล้อมกับสถานที่นี้
วัดเจดีย์หลวงแห่งนี้ ครั้งหนึ่งในอดีตได้เคยเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกต ซึ่งนับว่าเป็นพระประจำคู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทย ก่อนที่จะมีการย้ายไปที่วัดพระแก้วที่เป็นสถานที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตในปัจจุบัน
วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ได้รับการประกาศเป็นโบราณสถานสำหรับชาติ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 8 มีนาคม 2478 พร้อมกับวัดอีกหลายแห่งในจังหวัดเชียงใหม่
สิ่งที่น่าสนใจในวัดเจดีย์หลวง นอกจากตัวเจดีย์หลวง
วิหารหลวง
วิหารหลวงของวัดนี้เจ้าคุณอุบาลีคุณปรมาจารย์ (สิริจันทะเถระ) และเจ้าแก้วนวรัฐเป็นผู้สร้างขึ้นในปีพุทธศักราช 2471 หน้าประตูทางเข้าวิหาร มีบันไดนาคเลื้อยงดงามยิ่ง ใช้หางเกี่ยวกระหวัดขึ้นไปเป็นซุ้มประตูวิหาร นาคคู่นี้เป็นฝีมือ เก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่เดิมได้ชื่อว่าเป็นนาคที่สวยที่สุดของ มี พระอัฎฐารสเป็นพระประธานในพระวิหารหลวง หล่อด้วย ทองสำริด ปางห้ามญาติสูง 18 ศอก พระนางติโลกะจุดา ราชมารดาของพญาติโลกราช โปรดฯให้หล่อขึ้น เมื่อ พ.ศ. 1954 สมัยรัชกาลที่ 5 ใช้วิหารวัดเจดีย์หลวงเป็นที่ทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัจจา แทนการใช้ที่วิหารวัดเชียงมั่น
เสาอินทขีล
เสาอินทขีล เป็นคติความเชื่อเรื่องจักรวาลวิทยาในยุคแรกอินทขีลเป็นสัญลักษณ์สะท้อนความเชื่อดั้งเดิมของชาวลัวะ โดยเสาอินทขีลเดิมตั้งอยู่ในบริเวณพิ้นที่ซึ่งตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่เรียกว่า “สายดือเมือง” เมื่อพระเจ้ากาวิละย้าย ออกจากเวียงป่าซางซึ่งอยู่นานถึง 14 ปี 4 เดือน 20 วันเข้าสู่นครเชียงใหม่ เมื่อเดือน 6 ขึ้น 12ค่ำ ย้ายเข้าวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2339 เพื่อ “ส้างบ้านแปลงเมือง” นำเชียงใหม่สู่ ยุคเก็บผักใส่ช้าเก็บข้าใส่เมือง ฟื้นอำนาจ เชียงใหม่จนประสบชัยใน พ.ศ.2343 จึงเรียกชื่อเมืองเชียงใหม่ว่า “เมืองรัตตนติงสาภินวปุปรี” พร้อมก่อรูป กุมภัณฑ์รูป สุเทวฤษไว้ใกล้หออินทขีล ที่วัดโชติอารามวิหาร ในเดือนมิถุนายน 2533 ถึงเดือน ธันวาคม 2535 กรมศิลปากรได้ว่าจ้างบริษัท ศิวกรการช่าง จำกัด บูรณปฎิสังขรณ์พระธาตุเจดีย์หลวง ด้วยงบประมาณ 35 ล้าน บาท รักษารูปทรงที่เหลืออยู่จากครั้งแผ่นดินไหว ให้มั่นคงยิ่งขึ้นโดยทำฐานกว้างด้านละ 60 เมตรและเสริม เติมส่วนที่มี ร่องรอยเช่น ช้างทั้ง 8 เชือก รอบพระเจดีย์แต่ได้รับการวิจารณ์หนัก และปัจจุบันมีความพยายามให้ ปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ให้เต็มองค์โดยนิมนต์สมเด็จพระสังฆราช เป็นองค์ประธาน ราวกับจะให้ร่องรอยพังทลาย ที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์หมดสิ้นไป
ทั้งหมดนี้จะทำให้เห็นว่า การไปเที่ยววัดโบราณครั้งหนึ่งนั้น เราอาจจะไม่ได้เห็นแค่เพียงตัววัด ความสวยงามของสิ่งก่อสร้าง แต่เราอาจจะเห็นถึงประวัติศาสตร์ของเมือง แนวคิดทางศาสนา สิ่งที่บันทึกไว้ในวัด ศิลา หินสลักต่างๆ ที่จะบ่งบอกถึงอดีต วัดเจดีย์หลวงวรวิหารนั่นก็เป็นตัวอย่างที่ดี ที่จะทำให้ผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับวัด หรือไปชมวัดแล้วสนใจในที่มาของวัด ได้เล็งเห็นว่า วัดแต่ละวัดนั้นมีที่มาอย่างไร มีความสำคัญอย่างไร และยังบ่งบอกถึงความเปลี่ยนไปของศาสนา ผ่านทางสิ่งเคารพสักการะได้อีกด้วย