Article

วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

ทำไมต้องสายมู เพราะว่าวัดนี้เป็นวัดที่มีพระธาตุประจำปีนักษัตรมะโรง วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เป็นวัดเก่าแก่ในจังหวัดเชียงใหม่สายมูเป็นอันรู้กันว่าวัดนี้สำหรับชาวปีนักษัตรมะโรง จะต้องมาไหว้ให้ได้สักครั้งในชีวิต เสริมสิริมงคล แต่สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้เกิดปีมะโรงก็มาไหว้ได้นะ เพราะวัดนี้เองก็เป็นวัดเก่าแก่ในเมืองเชียงใหม่ด้วยเช่นกัน เป็นหนึ่งในวัดที่นิยมจัดทำทริปไหว้พระ 9 วัด ของเชียงใหม่ด้วยเช่นกัน วัดนี้ยังมีความน่าสนใจอีกมากมายจะเป็นอะไรบ้างนั้น ติดตามอ่านกันได้เลย

ประวัติของวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร เป็นศาสนสถานในนิกายเถรวาท ตั้งอยู่ในบริเวณคูเมืองเชียงใหม่ ถนนสามล้าน ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ วัดพระสิงห์ฯ เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ เป็นประดิษฐานพระสิงห์ (พระพุทธสิหิงค์) พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่และแผ่นดินล้านนา พระพุทธรูปเป็นศิลปะเชียงแสนรู้จักกันในชื่อ “เชียงแสนสิงห์หนึ่ง”

ประวัติการสร้างวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร

วัดพระสิงห์วรมหาวิหารเป็นวัดเก่าแก่ อายุกว่า 600 ปี โดยสร้างขึ้นในรัชสมัยของ พญาผายู กษัตริย์เชียงใหม่ (กษัตริย์ล้านนา)ในราชวงศ์มังราย โดยมีการโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1888 ขั้นแรกให้ก่อสร้างเจดีย์สูง 23 วา เพื่อบรรจุพระอัฐิของพญาคำฟู พระราชบิดา ต่อมาอีก 2 ปี จึงได้สร้างพระอาราม เสนาสนวิหาร ศาลาการเปรียญ หอไตร และกุฏิสงฆ์ เมื่อเสร็จเรียบร้อย ทรงตั้งชื่อว่า “วัดลีเชียงพระ” เพราะคำว่า “ลี” ในภาษาล้านนาแปลว่า “ตลาด” และด้านหน้าวัดก็เป็นชุมชนซึ่งมี ตลาดลีเชียงพระ ให้ชาวบ้านทำมาค้าขาย จึงเป็นที่มาของชื่อในสมัยนั้น

 ในเวลาต่อมา ในช่วงรัชสมัยของ “พญาแสนเมืองมา” ขึ้นครองเวียงเชียงใหม่ โปรดให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาจากเมืองเชียงราย มาประดิษฐานไว้ในวัดนี้ ซึ่งเป็นปีพุทธศักราช 1943 จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดพระสิงห์”

ต่อมาในวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 วัดพระสิงห์ได้รับพระกรุณาโปรดให้ยกเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร จึงได้มีชื่อเต็มของวัดว่า “วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร”

นอกจากประวัติที่ยาวนาน ของวัดพระสิงห์วรมหาวิหารแล้ว ภายในวัดยังมีโบราณสถาน อยู่ภายในวัดอีกมากมาย ได้แก่ พระอุโบสถ วิหารลายคำวิหารหลวงที่ถูกสร้างและตกแต่งแบบล้านนาดั้งเดิม หอไตร รวมถึงภาพจิตรกรรมที่อยู่ภายใน ล้วนแล้วแต่ทรงคุณค่า วัดแห่งนี้จึงเป็นสถานที่รวบรวมตัวอย่างงานศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมสมัยล้านนามากที่สุดแห่งหนึ่ง ทำให้เป็นวัดที่ทรงคุณค่า เหมาะแก่ผู้ที่ต้องการศึกษาศิลปกรรมแบบล้านนา 

วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ตั้งแต่ดังเดิมตามความเชื่อทางคติของชาวล้านนากำหนดให้เป็นวัดประจำปีนักษัตร “มะโรง” จึงมีสายมูที่ศรัทธามาไหว้ของพรเพื่อเป็นมงคลอยู่เป็นประจำ

ศิลปกรรมภายใน วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ที่น่าสนใจ

วัดเก่าแก่ของเชียงใหม่ มักมาพร้อมกับศิลปกรรมที่เป็นเหมือนร่องรอยของอารยธรรมในยุคนั้น วัดพระสิงห์วรมหาวิหารก็มีศิลปกรรมเก่าแก่ด้วยเช่นกันแบ่งเป็น

วิหารหลวง

วิหารหลวงของวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ได้ถูกสร้างขึ้นในช่วงปีของ ครูบาเจ้าศรีวิชัย เมื่อปี พ.ศ. 2467 แทนที่อาคารทรงจัตุรมุขหลังเดิม วิหารหลวงแห่งนี้มีการผสมผสานกันระหว่างศิลปะแบบล้านนาและรัตนโกสินทร์เข้าด้วยกัน โดยสังเกตได้จากหน้าบันของวิหารหลวง มีการประดับด้วยรูปนารายณ์ทรงครุฑล้อมรอบด้วยลายพันธุ์พฤกษาซึ่งเป็นลวดลายที่ไม่ปรากฏในศิลปะล้านนา โดยมีการแทรกรูปเสือ สัญลักษณ์ประจำปีเกิดของครูบาเจ้าศรีวิชัย นั่นก็คือปีขาล

ด้านในของวิหารหลวงแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานของพระศรีสรรเพชญ (หลวงพ่อโต) พระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่เป็นพระประธาน พระประธานองค์นี้เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นพระประธานเดิมของวิหารหลวงหลังเก่าก่อนที่จะถูกสร้างใหม่ในสมัยของครูบาเจ้าศรีวิชัย ส่วนด้านหน้าของวิหารตรงวงเวียนของพระวิหารจะมี อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึง ครูบาเจ้าศรีวิชัย อดีตเจ้าอาวาสของวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร และเป็นผู้สร้างวิหารแห่งนี้

พระวิหารลายคำ

พระวิหารลายคำ เป็นพระวิหารที่เป็นจุดสำคัญของวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เพราะวิหารลายคำนี้เป็นวิหารที่สร้างและตกแต่งด้วยศิลปะล้านนาแท้ๆ จำนวนน้อยที่ยังหลงเหลืออยู่ และยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์มาก เป็นศิลปกรรมที่ถูกสร้างตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 25 เมื่อเข้าไปในพระวิหารลายคำจะได้เห็นแถวเสาที่นำสายตาให้ไปมองพระพุทธสิหิงค์ที่ประดิษฐานอยู่ในวิหารแห่งนี้ โดยเสาเหล่านี้มีลายคำ หรือลวดลายสีทองบนพื้นสีแดงซึ่งได้รับการยกย่องว่างดงามที่สุดในล้านนา โดยลายคำของวัดพระสิงห์เป็นรูปกู่พระเจ้า มังกรจีน หงส์และลายเมฆแบบจีนซึ่งต่างก็เป็นลายมงคลจีนและยังเป็นสิ่งที่เสริมความขรึมขลัง ความศักดิ์สิทธิ์ และสื่อทิพยสภาวะของสวรรค์ จนทำให้วิหารแห่งนี้ถูกเรียกว่าวิหารลายคำ นอกจากเลือกเรื่องลายเสาแล้วยังมี จิตรกรรมฝาผนัง โดยเป็นเรื่องที่ไม่ได้เขียนผนังโดยทั่วไป จึงเป็นจิตรกรรมฝาผนังที่หายากแห่งหนึ่ง กล่าวคือจิตรกรรมฝาผนังพระวิหารลายคำนี้เป็นเรื่องสังข์ทอง กับสุวรรณหงส์ซึ่งเป็นวรรณคดีชื่อดังในสมัยรัตนโกสินทร์

พระพุทธสิหิงค์

พระพุทธสิหิงค์ที่ถูกอัญเชิญมาไว้ที่วัดพระสิงห์วรมหาวิหารองค์นี้ มีการสันนิษฐานว่า สร้างขึ้นตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 700 โดยกษัตริย์ 3 พระองค์จากกรุงลังกา และพระอรหันต์ถึง 20 รูป ทำให้กลายเป็นที่ศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชาวล้านนาตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศ ขึ้นมากราบไหว้พระพุทธสิหิงค์ที่พระวิหารแห่งนี้

อุโบสถ

อุโบสถหลังนี้มีความพิเศษในเรื่องของการประดิษฐานพระประธานที่ต่างจากปกติ โดยปกติแล้วการประดิษฐานพระประธาน จะถูกจัดวางด้านในสุดของอาคาร แต่สำหรับอุโบสถนี้มีการประดิษฐานพระประธานบริเวณที่เรียกว่ากู่พระเจ้า ที่เป็นจุดกึ่งกลางของอาคาร ทำให้อุโบสถมีเอกลักษณ์ที่น่าค้นหาคำตอบในความแตกต่างนี้มากยิ่งขึ้น

จะเห็นได้ว่าในแต่ละวัด ก็มีเรื่องราวที่มา เหตุผลในการสร้าง แม้แต่เรื่องของชื่อเองที่บ่งบอกถึงการอยู่ร่วมกับวิถีชีวิตของคนในอดีต ยังไม่รวมถึงการศึกษาศิลปกรรม สถาปัตยกรรมที่เป็นพื้นฐานในการตกแต่ง สร้าง ที่ต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น และยุคสมัย เมื่อเราได้ทำการศึกษาในการไปเยี่ยมชมวัดพระสิงห์วรมหาวิหารครั้งต่อไป ก็ไม่ได้เป็นเพียงการไปไหว้พระ สักการะ เพิ่มความสิริมงคลให้กับชีวิต แต่เป็นการที่ไปค้นหาจุดเด่น ข้อแตกต่างของวัด และยังได้อธิบายน่าสนใจของวัดให้กับเพื่อน หรือคนที่ไปด้วยให้เขาได้เห็นถึงความสวยงามที่ซ่อนไว้ ไม่ได้เป็นเพียงความสวยงามที่ตามองเห็นได้เท่านั้น

79 views
cool good eh love2 cute confused notgood numb disgusting fail