วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร พระอารามหลวง ชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร เป็นวัดที่มีความสำคัญเนื่องจากเป็นวัดที่มีการเก็บบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ อยู่ภายในพระธาตุ วัดพระธาตุดอยสุเทพเป็นวัดที่มีความสวยงามมาก ทำให้เป็นอีกสถานที่ ที่มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศเดินทางไปเยี่ยมชม อยู่เป็นประจำ
ทำไมวัดพระธาตุดอยสุเทพถึงเป็นพระอารามหลวง ?
เคยสงสัยกันไหมว่า วัดพระอารามหลวงคืออะไร แต่ละชั้นต่างกันอย่างไร อธิบายได้ดังนี้
พระอารามหลวง หรือ วัดหลวง คือ วัดที่พระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ทรงสร้างหรือทรงบูรณปฏิสังขรณ์ หรือมีผู้สร้างน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นวัดหลวง และวัดที่ราษฎรสร้าง หรือบูรณปฏิสังขรณ์ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าจำนวนในบัญชีเป็นพระอารามหลวง
โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 ชั้นดังนี้
- พระอารามหลวงชั้นเอก ได้แก่ วัดที่มีเจดีย์สถานบรรจุพระบรมอัฐิ หรือเป็นวัดที่มีเกียรติสูง
- พระอารามหลวงชั้นโท ได้แก่ วัดที่มีเจดีย์สถานสำคัญ
- พระอารามหลวงชั้นตรี ได้แก่ วัดประจำหัวเมือง หรือวัดที่มีความสำคัญชั้นรอง
จากข้อความด้านบน จะเห็นได้ว่า การที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอารามหลวง จะต้องมีการเสนอ และมีกระบวนการในการแต่งตั้ง จนถึงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ลงมา ด้วยความเป็นพระอารามหลวง ควบคู่ไปกับการเป็นวัดโบราณ ทำให้เป็นวัดที่มีความน่าสนใจ น่าศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับวัดให้มากขึ้น
ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับ วัดพระธาตุดอยสุเทพ
- ชื่อ วัดพระธาตุดอยสุเทพ
- นิกาย มหานิกาย
- ชนิดของวัด เป็นวัดที่ได้รับพระราชทาน วิสุงคามสีมา
- ประเภทวัด พระอารามหลวง ,วัดเพื่อการท่องเที่ยว
ประวัติ วัดพระธาตุดอยสุเทพ โดยสังเขป
วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร เป็นวัดที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พุทธศักราช 1927 หรือ จุลศักราชที่ 746 ในสมัยของพญากือนา (พระเจ้ากือนาธรรมิกราช) ที่เป็นกษัตริย์ของล้านนา พระองค์ที่ 6 อยู่ในราชวงศ์มังราย ตามตำนานเล่าว่า เนื่องจากพระองค์ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุกลับมายังล้านนา ต่อมาพระบรมสารีริกธาตุได้แสดงปาฏิหาริย์แยกเป็น 2 องค์ จึงเชิญพระบรมสารีริกธาตุหนึ่งองค์บรรจุในพระเจดีย์วัดสวนดอก ส่วนพระบรมสารีริกธาตุอีกองค์ ได้จัดพิธีอธิษฐานเสี่ยงช้างมงคล เพื่อหาสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุอีกชิ้นที่ได้แยกออกมา ช้างมงคลได้เดินทางผ่านหลายสถานที่ (สามารถหาอ่านเต็มๆได้ ในวิกิพีเดีย) ก่อนที่จะมาถึงจุดสิ้นสุด ที่ยอดดอยสุเทพ พญากือนาจึงโปรดเกล้าฯให้ขุดดินลึกถึง 8 ศอก กว้าง 6 วา 3 ศอก และจัดหาแท่นหินใหญ่ 6 แท่น มาเพื่อว่าเป็นรูปหีบใหญ่ในหลุมนั้น ก่อนที่จะทำพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุลงประดิษฐาน หลังจากนั้นจึงถมด้วยหิน ก่อนที่จะก่อพระเจดีย์สูงถึง 5 วา ครอบเหนือจุดที่พระบรมสารีริกธาตุประดิษฐาน ดังนั้นในบริเวณตรงส่วนนี้ของวัดพระธาตุดอยสุเทพ จึงมีความเชื่อที่จะไม่ให้ผู้หญิงเข้าไปในส่วนนี้ สำหรับผู้ชายที่เข้าไปนมัสการจำเป็นต้องถอดรองเท้า ซึ่งเป็นข้อห้ามที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่อดีต
เวลาได้ล่วงเลยมาหลังจากนั้นอีกไม่นาน ได้มีการเสริมความสูงของพระเจดีย์ โดยในสมัยของพระเมืองเกษเกล้า กษัตริย์ล้านนาองค์ที่ 12 ซึ่งตรงกับปี พุทธศักราช 2081 ได้โปรดเกล้าฯให้เสริมพระเจดีย์จากเดิมให้สูงขึ้น เป็นกว้าง 6 วา สูง 11 ศอก พร้อมทั้งให้ช่างนำทองคำ ทำเป็นรูปดอกบัวทอง ใส่บนยอดของเจดีย์ และต่อมาในสมัยเจ้าท้าวทราบคำ ราชโอรสของพระองค์ได้ทรงให้ตีทองคำเป็นแผ่นติดที่พระบรมธาตุ
ในเวลาหลังจากนั้นอีก 19 ปี หรือ ในปี พุทธศักราช 2100 ได้มีการสร้างบันไดนาคหลวงทั้ง 2 ข้าง เพื่อใช้เป็นทางขึ้น ไปพระธาตุดอยสุเทพ โดยเป็นการดำริสร้างจากท่านพระมหาญาณมงคลโพธิ์ แห่งวัด อโศการาม เมืองลำพูน เพื่อจุดประสงค์ต้องการให้ผู้มีจิตศรัทธาได้ขึ้นไปสักการะ พระธาตุดอยสุเทพ ได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยบันไดนาคหลวงนี้ยังคงอยู่ถึงในปัจจุบัน และหลังจากนั้นในสมัยของท่านครูบาศรีวิชัย จึงได้มีการจัดสร้างถนนเพื่อขึ้นไปถึงวัดพระธาตุดอยสุเทพ โดยเป็นทางที่มีระยะทางกว่า 11 กิโลเมตร
อาคารเสนาสนะโบราณวัตถุและปูชนียวัตถุที่น่าสนใจของวัดพระธาตุดอยสุเทพ
อาคารเสนาสนะโบราณวัตถุและปูชนียวัตถุของวัด ประกอบไปด้วย
- อุโบสถทรงล้านนา ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังภาพประวัติพระธาตุดอยสุเทพ
- พระประธานในอุโบสถ พระพุทธรูปแบบพระสิงห์นั่งขัดสมาธิเพชร
- อนุสาวรีย์ช้างมงคล (ช้างพระที่นั่งของพญากือนา ที่บรรทุกโกศพระบรมสารีริกธาตุเสี่ยงทายขึ้นมาบนดอยสุเทพ)
- บันไดนาคหลวง ซึ่งตัวนาคยาวถึง ๖๐ วา
- พระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของเจดีย์แบบสุโขทัยที่เข้ามาสู่อาณาจักรล้านนาในสมัยนั้น ลักษณะโดยละเอียดขององค์เจดีย์ที่บรรจุพระบรมธาตุ คือ องค์เจดีย์มีเนื้อที่ฐานด้านละ ๖ วา รวม ๔ ด้าน เป็นเนื้อที่ ๓๖ ตารางวา
การที่เราได้ทราบถึงรายละเอียดและความสำคัญของอาคารและสถาปัตยกรรมของวัด จะทำให้เห็นถึงที่มา การเปลี่ยนแปลงในแต่ละสมัย เป็นประวัติของวัดที่ทำให้เห็นพัฒนาการของเมืองเชียงใหม่ไปพร้อมๆกัน การที่เราได้เห็นสิ่งที่น่าศึกษาของวัดพระธาตุดอยสุเทพในมุมอื่นดังที่ได้กล่าวไป จะทำให้การที่เราไปวัดครั้งต่อไป มีเป้าหมายที่น่าสนใจมากกว่าเดิม เป็นการไปวัดพระธาตุดอยสุเทพที่จะรู้ที่มาที่ไปของวัดอย่างลึกซึ้ง มากกว่าการที่ไปวัดเพื่อที่จะไปไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อความเป็นมงคล หรือการไปชมความสวยงามเพียงอย่างเดียว การที่เราได้เห็นถึงความหมายของเจดีย์ สถานที่ พื้นที่ที่ถูกกั้นจากสตรีเพศ ได้ทราบที่มาและเหตุผลของการห้ามตั้งแต่สมัยโบราณ อาจจะทำให้เราเข้าใจในกฎข้อห้ามของวัดมากขึ้น
วิธีการขึ้นไปสักการะวัดพระธาตุดอยสุเทพ
ในปัจจุบันสามารถขึ้นไปสักการะวัดพระธาตุดอยสุเทพได้ 2 วิธีดังต่อไปนี้
- เดินขึ้นบันไดนาคาเจ็ดเศียร โดยมีจำนวนขั้น 306 ขั้น โดยบันไดนี้ เป็นอีกหนึ่งมุมถ่ายภาพยอดนิยมในวัดพระธาตุดอยสุเทพ รองจากบริเวณเจดีย์วัดพระธาตุดอยสุเทพ
- ขึ้นลิฟท์ (รถรางไฟฟ้า) มีให้บริการสำหรับผู้ที่ไม่ประสงค์จะเดินขึ้นบันได มีการเก็บค่าบริการ
วัดพระธาตุดอยสุเทพนั้น นอกจากจะเป็นวัดหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ยังเป็นวัดที่มีที่มา และความเป็นไปในแทบทุกช่วงสำคัญในประวัติศาสตร์ของการสร้างเมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นอาณาจักรล้านนา การที่ได้ไปชม ไปเยี่ยม ไปสักการะ และศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับวัดพระธาตุดอยสุเทพ ที่ลึกซึ้งนั้น ทำให้เราเข้าใจในวิถีชีวิต และทำให้เข้าใจในความเชื่อที่เกี่ยวกับศาสนา ของคนในยุคล้านนาได้ดียิ่งขึ้น ทำให้เราไม่คิดว่า วัดพระธาตุดอยสุเทพ จะเป็นเพียงสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของเชียงใหม่เท่านั้น แต่เป็นเหมือนอนุสรณ์สถาน ที่ยังคงอยู่ ส่งต่อถึงความเชื่อความศรัทธาของคนเชียงใหม่ ที่มีต่อศาสนาที่มีมาตั้งแต่รุ่นสู่รุ่น วัดพระธาตุดอยสุเทพจึงเป็นเหมือนพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของเชียงใหม่ เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่หากได้มีโอกาสไปเที่ยวชม เพื่อสักการะ หรือศึกษาแนวคิดความสวยงามทางสถาปัตยกรรม ก็คุ้มค่าในการเดินทาง